น้ำตาลดูเป็นสิ่งไม่อันตราย เพราะน้ำตาลอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็น ขนมหวาน เครื่องดื่มต่าง ๆ น้ำอัดลม หรือ ชาไข่มุก ต่างก็มีส่วนผสมของน้ำตาลค่อนข้างสูง น้ำตาลมีฤทธิ์คล้ายยาเสพติดอ่อน ๆ ทำให้เรารู้สึกอยากกินของหวานบ่อย ๆ
ทว่าผลสำรวจจากการขับเคลื่อนของ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน พบว่า นักเรียนอนุบาลถึงนักเรียนประถมศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เกิดปัญหาฟันผุเฉลี่ย 1-2 ซี่ต่อคน นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่รุนแรงในเด็กอายุ 5 ปี เพราะเด็กวัยนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดโรคฟันน้ำนมผุ และหลังจากการสำรวจหน้าโรงเรียน ได้พบว่าอาหารหน้าโรงเรียนในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนของเด็กๆ มักจะมีแต่อาหารและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ชานมไข่มุกแล้วละ 10 บาท , ขนมโตเกียว , เครป และขนมอื่นอีกมากมาย
ภัยของความหวานน้ำตาลและความหวาน เป็นอีกหนึ่งค่านิยมและพฤติกรรมการบริโภค ที่ผู้ใหญ่สร้างให้กับเด็ก ซึ่งโดยธรรมชาติของวัยชอบความหวานอยู่แล้ว การส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารและขนม โดยมีความหวานเป็นตัวนำ ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้โรคภัยต่าง ๆ คุกคามสุขภาพได้ง่ายขึ้นด้วย และถึงแม้น้ำตาลจะไม่ใช่สารเสพติด แต่การวิจัยก็พบว่า สมองของคนที่กินหวานจนชิน จะมีการตอบสนองแต่น้ำตาลด้วยการหลั่งสารโอปิออยด์ (Opioids) ออกมา ทำให้เกิดความพึงพอใจ และความอยากกินหวาน นักวิทยาศาสตร์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะการพึ่งน้ำตาล (Sugar dependency) หรือ “ติดหวาน” คือต้องการความหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้จะยังไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลของเด็กไทย แต่จากสภาพการณ์ที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ มิติ บอกเล่าชัดเจนว่า ในปัจจุบันเด็กไทยรุ่นใหม่ มีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลมาก หรือมีอาการ “ติดหวาน” เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เด็กจะยังตกอยู่ท่ามกลางแรงกระตุ้นของการตลาด และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีการกินหวานมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น นม น้ำอัดลม ขนม อาหารสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งยา ก็ล้วนแล้วแต่มีการเติมความหวานในปริมาณมากเกินความจำเป็น เฉพาะแค่โรคฟันผุ และโรคอ้วน ตลอดจนโรคที่ตามมากับความอ้วน มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคน้ำตาลอย่างแน่นอนที่เห็นได้ชัดและเร็วใน เด็กที่บริโภคน้ำตาลมาก ๆ มักจะมี ฟันผุ ซึ่งเกิดจากการสูญเสียแร่ธาตุบนตัวฟัน เมื่อมีการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแป้ง และน้ำตาล แบคทีเรียที่อยู่บริเวณผิวเคลือบฟัน จะย่อยแป้งและน้ำตาล ให้กลายเป็นกรดละลายแร่ธาตุจากตัวฟัน
การหยุดอาการติดหวาน สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในวัยเรียน การลงทุนกับวัยเด็ก-วัยเรียน ถือเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด คล้ายกับการวางรากฐานเพื่อพัฒนาให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตอย่างมีความพร้อมทั้งร่างกาย สมอง จิตใจ อารมณ์ และสังคม
จะเห็นได้ว่าการจำกัดการบริโภคน้ำตาลจึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ
เพราะการติดน้ำตาลหรือติดรสหวานนั้นมักมาจากนิสัยการกินตั้งแต่วัยเด็ก ข้อมูลระบุว่า เด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงด้วยนมรสหวาน ดื่มน้ำหวาน และกินขนมหวานปริมาณมากโดยไม่มีการควบคุม พวกเขาจะคุ้นเคยกับรสชาติหวาน และมีแนวโน้มที่จะกินน้ำตาลหรือของหวานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่มักหยิบยื่นขนมให้เด็กตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากขนมทำให้เด็กมีความสุข หรือบางครั้งใช้ขนมแทนอาหารมื้อหลัก หรือนิยมเติมน้ำตาลลงในอาหารที่ปรุงให้ลูก พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากในยุคนี้จึงมีภาวะน้ำหนักเกิน และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราควรมาใส่ใจในความหวาน ที่แฝงตัวเข้ามาคุกคามเด็กๆได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกันเถอะ