เมื่อการพัฒนาการที่สำคัญที่สุดของเด็กนั้น สร้างได้ง่ายกว่าที่คุณคิด เพราะการพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) ซึ่งเป็นทักษะสมอง EF เป็นความรู้ใหม่ที่นักวิชาการทั่วโลกให้ความสนใจ ศึกษาและค้นคว้าถึงความสำคัญ โดยให้นิยามสั้นๆไว้ว่า … “EF คือ ความสามารถในการบริหารจัดการตนเองในการกำกับ ความคิด อารมณ์ การกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” ดังนั้นนักวิชาการหลายคนจึงชี้ว่า EF คือทักษะสมองที่นำพาไปสู่ความสำเร็จ
ว่าแต่ EF หรือ Executive Functions คืออะไร? และสำคัญต่อเด็กๆอย่างไร
ในปัจจุบัน ผู้ปกครองมีความคาดหวังที่ลูกรักของตันเอง มีพัฒนาการที่แข็งแรงสมวัย และนอกจากนั้นก็วาดหวังว่าเด็กๆเหล่านั้นจะเติบโตมีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ
ดังนั้นพ่อแม่จึงมีบทบาทมากขึ้นในการวางแผนต่อรากฐานของชีวิตลูกรักมากขึ้น และได้ศึกษา สังเกตุคนประสบความสำเร็จรอบตัวเราทั้งหลายว่า เขามีสิ่งที่เหมือนๆกันบางอย่าง เช่น การคิด การแก้ปัญหา มีเป้าหมายและความมุ่งมั่น คุณลักษณะเหล่านี้เมื่อเรามีพร้อมไม่ว่าจะช่วงเวลาใดๆของชีวิต ก็จะทำให้ช่วงเวลานั้นๆ มีประสิทธิภาพ ราบรื่น อย่างดีที่เดียว
ปัจจุบันนักวิชาการค้นพบแล้วว่า สิ่งเหล่านั้นที่คนที่ประสบความสำเร็จมีเหมือนกันก็คือ ทักษะที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง เรียกว่า EF หรือ Executive Functions of the Brain ซึ่งสมองที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการควบคุมการทำงานของสมองหลายส่วนให้ทำงานเชื่อมประสานกัน และส่วนนั้นก็จะเกิดการประมวลผลข้อมูลแบบฉับพลัน เหตุการณ์ วิเคราะห์ แปลความหมาย และสรุปเพื่อให้เกิดการตัดสินใจขณะนั้น และช่วยทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ประสบผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
องค์ประกอบหลักของทักษะ Executive Functions (EF) แบ่งเป็น 9 ทักษะดังนี้
- ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) เป็นความจำที่เก็บไว้ เพื่อประมวลผล เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และดึงข้อมูลนั้นมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ
- การยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ความสามารถในการหยุด คิดไตร่ตรองก่อนทำหรือพูด ชั่งใจ พินิจพิจารณา สามารถควบคุมความต้องการได้
- การยืดหยุ่นทางความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ปรับเปลี่ยนความคิดเมื่อเจอเงื่อนไขเปลี่ยน การคิดนอกกรอบ รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว
- การจดจ่อสนใจ (Focus หรือ Attention) ความสามารถในการ มุ่งใจจดใจจ่อ อยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำให้เสร็จเป็นอย่างๆไป
- การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในเหมาะสม จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ ไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา
- การติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring) ความสามารถในการประเมินตนเอง หาข้อบกพร่องและนำมาแก้ไข พัฒนาข้อดีของตนเองขึ้นไป
- ลงมือทำ (Initiating) ความสามารถในการเริ่มลงมือทำกิจกรรมใดๆ ริเริ่ม ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ทำทันที
- วางแผน จัดการ และดำเนินการ (Planning and Organizing) ความสามารถในการวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งเป้าหมาย วางแผน จัดลำดับ ระบบ ประเมินผล
- การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) ความสามารถในการวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย ฝ่าฟันอุปสรรคไปถึงเป้าหมาย
พัฒนาการของ Executive Functions (EF) นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เกิด และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วง 3-5 ขวบ และจะคงอยู่ตลอดช่วงชีวิต
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาการนั้นแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ ตามธรรมชาติ และ จากสิ่งแวดล้อม … ซึ่งจากสิ่งแวดล้อมนั้นส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือตัวคุณพ่อคุณแม่ หลังจากที่แต่เดิมเข้าใจว่า พัฒนาขึ้นในวัยเรียน ประสบการณ์ช่วงแรกของชีวิต จะกำหนดทักษะของสมอง ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ของลูก